ประวัติของวิทยาลัยการจัดการและพัฒนาท้องถิ่น

DSC_1024

วิทยาลัยการจัดการและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พัฒนาการจัดตั้งมาจากโครงการจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์ซึ่งได้แยกส่วนออกมาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อันเนื่องด้วยกลุ่มวิชาทางสังคมศาสตร์ มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นคณะได้ โดยพิจารณาจากจำนวนหลักสูตร จำนวนนักศึกษา จำนวนกิจกรรมการวิจัยและบริการวิชาการ คุณวุฒิของคณาจารย์ภายในหลักสูตร นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีกับชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ และสถาบันทางศาสนาในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแหล่งฝึกฝนทักษะการปฏิบัติให้นักศึกษาซึ่งเป็นจุดแข็งในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นหลักในการเรียนรู้ (Problem-based learning) และใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based learning) และเป็นแนวทางให้กับคณะได้บูรณาการองค์ความรู้ในลักษณะสหวิทยาการของกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการให้มีขีดความสามารถเพียงพอต่อการบริหารการดำเนินงานทางด้านวิชาการให้นักศึกษา มีศักยภาพ สอดรับกับแผนพัฒนาของมหาวิทยาลัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยในอนาคต ตลอดจนความพร้อมในด้านต่างๆ ที่จะยกฐานะกลุ่มวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ การพัฒนาชุมชน และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นคณะได้ มหาวิทยาลัยฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยการจัดการและพัฒนาท้องถิ่นขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตและสร้างองค์ความรู้ไปรับใช้สังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ชุมชน สังคม และท้องถิ่น ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom)

 

          นโยบายการบริหารงานในปัจจุบัน ให้การสนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัยที่มุ่งเน้นไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ครอบคลุมในมิติต่างๆ การส่งเสริมให้นักศึกษามีองค์ความรู้ทางวิชาการและมี                  อัตลักษณ์ที่สอดคล้องกับบริบทและจริยธรรมของสังคม การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างมหาวิทยาลัยและชุมชน รวมถึงความร่วมมือในระดับสากลและเครือข่ายทางวิชาการอันสอดคล้องกับทิศทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นในเชิง “คุณค่า” ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปัญญา เพื่อคุณธรรม เพื่อความพอเพียงและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างสง่างาม ให้สมกับนามพระราชทานจากองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันมีมงคลความหมายว่า “ราชภัฏ คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน”

5,069 total views, 1 views today